วาฬสีน้ำเงิน (Balaenoptera musculus) เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีชิวิตอยู่บนโลก เมื่อแรกเกิด วาฬสีน้ำเงินมีลำตัวยาวเฉลี่ย 7.5 เมตร และหนักร่วม 3 ตัน ลูกวาฬซึ่งกินเฉพาะนมแม่ที่มีไขมันสูงถึงร้อยละ 40 มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 4 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มวัยวาฬสีน้ำเงินอาจมีลำตัวยาวกว่ารถบัสถึงสองเท่าและหนักเกือบ 200 ตันได้สบายๆ
ความที่วาฬสีน้ำเงินว่ายน้ำได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับแหล่งอาศัยของมันอยู่ในที่ห่างไกลที่ซึ่งมหาสมุทรทั้งสามแห่งของโลก อันได้แก่ แปซิฟิก แอตแลนติก และอินเดีย มาบรรจบกันในน่านน้ำเย็นเยียบแถบแอนตาร์กติกา ทำให้ประชากรวาฬสีน้ำเงินส่วนใหญ่อยู่รอดปลอดภัยกระทั่งถึงช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ จนเมื่อมีการประดิษฐ์คิดค้นฉมวกระเบิดพร้อมเรือล่าวาฬพลังไอน้ำความเร็วสูง แหล่งที่มั่นสำคัญของวาฬสีน้ำเงินจึงถูกตีแตก ในช่วง 60 ปีแรกของศตวรรษที่ยี่สิบ คาดว่ามีวาฬสีน้ำเงินราว 360,000 ตัวถูกฆ่าตาย ประชากรวาฬรอบเกาะเซาท์จอร์เจียในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ถูกล้างบาง รวมทั้งพวกที่เคยหากินอยู่นอกชายฝั่งญี่ปุ่นด้วย ประชากรวาฬสีน้ำเงินบางกลุ่มลดจำนวนลงถึงร้อยละ 99 และในที่สุดสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่สุดของโลกชนิดนี้ก็ตกอยู่ในภาวะสูญพันธุ์
ด้วยเหตุนี้เอง นักเขียน เคนเน็ท บราวเออร์ และช่างภาพ ฟลิป นิกคลิน จึงออกเดินทางร่วมกับบรูซ เมต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัยออริกอนสเตต และนักติดแถบข้อมูลสัญญาณดาวเทียมวาฬ ผู้เปี่ยมความคิดสร้างสรรค์และมีผลงานมากที่สุดในโลก ร่วมด้วยจอห์น คาลัมโบคิดิส นักระบุวาฬจากภาพถ่ายที่หาตัวจับยากที่สุดในแถบเวสต์โคสต์หรือชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ทั้งหมดเริ่มมุ่งหน้าออกสู่ทะเลเพื่อไปยังที่หมายนอกชายฝั่งคอสตาริกา ซึ่งเป็นบริเวณที่วาฬสีน้ำเงินจะอพยพมาอาศัยอยู่ในช่วงฤดูหนาวหรือที่เรียกกันว่า คอสตาริกาโดม (Costa Rica Dome)
คอสตาริกาโดมคือบริเวณที่น้ำเย็นอันอุดมไปด้วยแร่ธาตุลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบนเนื่องจากการบรรจบกันของกระแสลมและกระแสน้ำทางตะวันตกของอเมริกากลาง แม้ตำแหน่งดังกล่าวจะไม่แน่นอนและค่อนข้างวกวน แต่โดมที่ว่านี้มักอยู่ห่างจากชายฝั่งออกไปราว 500 ถึง 800 กิโลเมตร การลอยตัวขึ้นของน้ำเย็นที่ว่านี้จะดันให้เทอร์โมไคลน์ (thermocline) หรือ ชั้นแบ่งระหว่างน้ำเย็นที่อยู่ลึกลงไปกับน้ำอุ่นที่อยู่บริเวณผิวน้ำ ลอยตัวขึ้นถึง 10 เมตรจากผิวน้ำ น้ำเย็นที่มีออกซิเจนต่ำ ลอยตัวขึ้นจากเบื้องล่างพร้อมกับนำไนเตรต ฟอสเฟต ซิลิเกต และสารอาหารอื่นๆขึ้นมาด้วย อาหารทิพย์เหล่านี้ทำให้เกิดโอเอซิสหรือห่วงโซ่อาหารกลางทะเลขึ้น ส่งผลให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของวาฬสีน้ำเงิน
ด้วยขนาดตัวที่ใหญ่โตมโหฬารและความต้องการพลังงานมหาศาลอาจบังคับให้วาฬสีน้ำเงินต้องเสาะหาแหล่งพักพิงช่วงฤดูหนาวที่มีอาหารค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ไม่ใช่เพียงแค่พอประทังความหิว โอเอซิสของคอสตาริกาโดมจึงตอบสนองความต้องการของพวกมันได้ นอกจากนี้ ความอุดมสมบูรณ์ของกระแสน้ำในแถบนี้ยังเอื้อให้วาฬแม่ลูกอ่อนผลิตน้ำนมจากฝูงคริลล์ (krill) ที่สวาปามเข้าไป ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับลูกวาฬวัยกำลังกินกำลังโตที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึงวันละ 90กิโลกรัมด้วย
วาฬสีน้ำเงินได้รับการปกป้องในระดับนานาชาติมาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1960 แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตามซึ่งยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ประชากรของวาฬชนิดนี้กลับแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย ถ้าเราอยากเห็นสิ่งมีชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในโลกกลับมายืนยงอีกครั้ง เมตและคาลัมโบคีดิสเชื่อว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาด้านประชากรศาสตร์และติดตามการเคลื่อนไหวของพวกมันอย่างใกล้ชิด ดังนั้น ภารกิจที่พวกเขาต้องทำก็คือ การติดแถบข้อมูลสัญญาณดาวเทียมวาฬเพื่อจะได้ติดตามได้ว่า พวกมันเดินทางไปไหนบ้างและใช้ชีวิตอย่างไร
ภารกิจเริ่มต้นขึ้นที่คอสตาริกาโดม นักวิจัยจะเริ่มขนเครื่องไม้เครื่องมือสารพัดลงไปในน้ำ เช่น เซ็นเซอร์ซีทีดี (CTD sensor) เครื่องหยั่งน้ำแบบเสียงสะท้อน (echo sounder) และไฮโดรโฟน(hydrophone) หรือไมโครโฟนใต้น้ำความไวสูง โดยเซ็นเซอร์ซีทีดีจะบันทึกความสามารถในการนำไฟฟ้า (ใช้ตวจวัดความเค็ม) อุณหภูมิ และความลึก ขณะที่เครื่องหยั่งน้ำแบบเสียงสะท้อนจะค้นหาแหล่งที่คริลล์ซึ่งเป็นอาหารหลักของวาฬสีน้ำเงินรวมตัวอยู่หนาแน่น ส่วนไฮโดรโฟนจะใช้ตรวจหาเสียงร้องของวาฬสีน้ำเงิน
เมื่อเซ็นเซอร์ซีทีดีตรวจพบเทอร์โมไคลน์ลึกลงไปใต้ผิวน้ำเพียง 20 เมตร ทีมงานก็จะปล่อยเรือติดแถบข้อมูลออกไป โดยเมตจะทำหน้าที่ติดแถบข้อมูลให้วาฬ ส่วนบราวเออร์รับหน้าที่เป็นผู้เก็บเนื้อเยื่อ เริ่มจากการเตรียมหน้าไม้ แล้วหยิบลูกดอกเก็บเนื้อเยื่อจากถังแช่ออกมา จากนั้นก็บรรจุลูกดอก ลูกดอกแบบนี้เมื่อยิงใส่วาฬแล้วจะตัดผ่านชั้นผิวหนังและไขมันลึกเข้าไปประมาณ 8 เซนติเมตร หรือจนสุดปลายจุกยางสีเหลืองที่ติดไว้ตรงปลายลูกดอกอีกด้านเพื่อกันไม่ให้เจาะเข้าไปลึกเกินไป และช่วยให้ลูกดอกหลุดออกจากตัววาฬได้ง่ายด้วย
เมื่อพูดถึงวาฬ สิ่งแรกที่เราเห็นก่อนเป็นอันดับแรกเกือบทุกครั้งคือ พวยน้ำที่มันพ่นออกมา ส่วนที่สองของวาฬที่เราเห็นคือ ส่วนหลัง และสิ่งสุดท้ายของวาฬที่เราเห็นคือ รอยหาง (flukeprint) เมื่อวาฬหรือโลมาว่ายในน้ำตื้น กระแสน้ำที่เกิดจากการตีหางจะทำให้เกิดรอยวงน้ำกลมๆขึ้นที่ผิวน้ำ ซึ่งเรียกว่า “รอยเท้าหรือรอยหาง” รอยหางของวาฬสีน้ำเงินมีขนาดใหญ่และคงอยู่ได้นานอย่างน่าแปลกใจ
หลังจากล่องเรือมานานสามสัปดาห์ ทีมงานทั้งหมดก็ได้สรุปผลงานที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จมาก การเดินทางครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์ว่า วาฬสีน้ำเงินจำนวนมากเดินทางมายังคอสตาริกาโดม ทั้งเพื่อมาผสมพันธุ์และเป็นแหล่งหากินในช่วงฤดูหนาว นับว่าข่าวที่ได้จากคอสตาริกาโดมนั้นเป็นข่าวดี เพราะนั่นหมายความว่าวาฬสีน้ำเงินที่ครั้งหนึ่งเคยลดจำนวนลงจนเกือบสูญพันธุ์ ได้พลิกฟื้นจำนวนขึ้นแล้ว
กระนั้น เราก็ควรตระหนักว่า แม้ยักษ์ใหญ่แห่งห้วงสมุทรชนิดนี้จะมีความแข็งแกร่งอย่างเหลือเชื่อ แต่พวกมันก็ยังต้องการความช่วยเหลือจากมนุษย์อย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะอยู่รอดต่อไป
ถ้าต้องการให้แก้ไขตรงไหนบอกด้วยคะ
ตอบลบแล้วจะมาลงเพิ่มให้คะ
ตอบลบช่วยติชมด้วยนะคะ
ตอบลบขอบคุณทุกความคิดเห็น
ตอบลบช่วยเข้ามาเช็คบ่อยๆนะคะ
ตอบลบจะพยายามเข้ามาลงให้นะคะ
ตอบลบหาข้อมูลยากมากเลยจะพยายาม
ตอบลบอยากทราบว่า
ตอบลบโคนันเกี่ยวอะไรกับ
วาฬสีน้ำเงิน
เป็นความชอบส่วนบุคคลคะ
ตอบลบแค่เอารูปมาประกอบจะได้สบายตา
ตอบลบไม่เป็นไรคะเอามาลงเยอะๆๆๆๆๆๆก็ได้ชอบเหมือนกัน
ตอบลบสาระดีนะ
ตอบลบ